Notice
  • JW_SIG_PRG
Tuesday, 04 February 2014 17:52

กิจกรรมทรัพยากรชายฝั่ง

กลุ่มกิจกรรมทรัพยากรชายฝั่ง

พฤษภาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗

แนวคิด

กิจกรรม “นักสืบชายหาด” เป็นโครงการสืบเนื่องจากกิจกรรมนักสืบสายน้ำ ที่ริเริ่มโดย “มูลนิธิโลกสีเขียว” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) มีแนวคิดหารูปแบบการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยใช้ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวบ่งชี้เน้นการเรียนรู้เชิงสืบค้นทั้งจากข้อมูลและในพื้นที่จริง โดยการสำรวจธรรมชาติรอบตัว อย่างง่าย ๆ สนุกสนาน แต่ใช้ได้จริง สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาจิตสำนึกให้เยาวชนและชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก พัฒนาความรู้ และศึกษาความเป็นไปในชายหาดท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ที่นำไปสู่การดูแลชายหาดได้อย่างยั่งยืน

{gallery}campaign/1/1-2{/gallery}

ระบบนิเวศชายหาด เป็นจุดสะสมตะกอนที่ถูกพัดพามาจากทั้งลุ่มน้ำ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นรอยต่อสำคัญระหว่างระบบนิเวศบนบกและในทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นแหล่งอาหารสำคัญ เป็นปราการสำคัญที่ปกป้องแผ่นดินจากมรสุม ฯลฯ นับว่าชายหาดคือทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่คนทั่วไปเห็นชายหาดเป็นเพียงสถานที่พักผ่อน หรือทำกิจกรรมนันทนาการ ชายหาดที่มีทรายขาวสวยงาม จะถูกจับจองเพื่อการท่องเที่ยว ชายหาดที่ไม่ค่อยสวยงามจะถูกปล่อยปละละเลย หลายแห่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะ น้ำเสีย และมลพิษต่าง ๆ ส่วนหาดโคลนที่มีความสำคัญมากในด้านนิเวศวิทยา มักถูกเปลี่ยน เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

กิจกรรมของมนุษย์ ล้วนแต่รบกวนชายหาด และผู้อาศัยในชายหาด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นห่วงโซ่ที่เกื้อกูลพึ่งพากันและกัน ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตในชายหาด จะเป็นการกระตุ้นเตือนและสร้างจิตสำนึก ให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญต่อชายหาดได้บ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากชายหาดแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ข้อมูลจากการสำรวจจะเป็นข้อมูลจำเพาะของหาดนั้น ๆ เพื่อใช้เป็นเปรียบเทียบ ดูการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และวางแผนการเฝ้าระวัง เฉพาะพื้นที่นั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม “นักสืบชายหาด” คงไม่ใช่ดัชนีที่ชี้วัดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากชายหาดมีความผันแปรอยู่ตลอดเวลา แต่เป็น “เครื่องมือ” ที่ให้คนหันมาสนใจรายละเอียดของชายหาด และเกิดกระบวนการ “คิดต่อ” ว่าจะมีรูปแบบการจัดการชายหาดได้อย่างไร

 

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

กิจกรรมอุปกรณ์ผู้รับผิดชอบ
ประเมินทัศนคติและความเข้าใจเบื้องต้น  
1. ตั้งคำถาม “คิดถึงชายหาด...คิดถึงอะไร” และขอเพียงความคิดแรกที่เข้ามา เพียงความคิดเดียว เขียนลงในบัตรคำ
  • บัตรคำ (แยกสี) ปากกาเคมี
  • กระดาษกาว
 
2. ปริศนาชายหาด เป็นเอกสารเแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องชายหาด แจกให้เด็ก ๆ ตอบคำถาม แบบทดสอบ ปากกา  
เรียนรู้ระบบนิเวศ  
3. จิ๊กซอร์ชายหาด เรียนรู้ระบบนิเวศจากต้นน้ำ- ปลายน้ำ แผนภูมิระบบนิเวศ (อาจปรับเป็นให้ดูซีดี หรือ Powerpointหากเป็นกลุ่มเล็ก และสถานที่เอื้ออำนวย /อาจใช้โปรเจคเตอร์ หรือดูจากโน๊ตบุ๊ค)  
เตรียมตัวเป็นนักสืบ  
4. คุณสมบัติ และเครื่องมือของนักสืบ
  • แผนภูมิคุณสมบัติของนักสืบน้อย
  • แผนภูมิอุปกรณ์
  • แผนภูมิการเตรียมตัวและข้อควรระวัง
  • คู่มือนักสืบชายหาด และอุปกรณ์
 
5. เรียนรู้และฝึกการใช้คู่มือนักสืบชายหาด
  • ตัวอย่างสัตว์ พืช และซากเกยหาด
  • คู่มือนักสืบชายหาด และอุปกรณ์
  • สมุดบันทึก ปากกา
 
6. รู้จักชายหาดของเรา (ประเมินว่าเป็นหาดหิน หาดทราย หาดโคลน หรือผสมผสานกัน เรียนรู้ตารางน้ำขึ้น-น้ำลง แบ่งบทบาทหน้าที่ ฯลฯ)
  • กระดาษชาร์ท ปากกาเคมี
  • ตารางน้ำขึ้น-น้ำลง
  • โน๊ตบุ๊ค (เวปไซต์กรมอุทกศาสตร์)
 
ปฏิบัติการนักสืบชายหาด  
7. ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างสัตว์ พืช และซากเกยหาด (ประมาณ20-30 นาที) และสำรวจพื้นที่โดยรอบ เช่น ป่าชายหาด คลองน้ำจืด ท่าเรือ ฯลฯ
  • คู่มือนักสืบชายหาดและอุปกรณ์
  • กล้องถ่ายรูป กล้องวิดิโอ
 
8. บันทึก ประเมินและสรุปข้อมูลกลุ่มย่อย (1 ชั่วโมง)
  • กระดาษชาร์ท ปากกาเคมี
 
9. นำเสนอและแลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่
  • แผนภูมิสรุป
 
กลับมาที่จุดเริ่มต้น  
10. ทบทวน “คิดถึงชายหาด คิดถึงอะไร” และปริศนาชายหาด บัตรคำ และแบบทดสอบ  
วางแผนดูแลและเฝ้าระวังชายหาด  
11. ระดมสมอง “เราจะกลับไปทำอะไร และบอกต่ออย่างไรบ้าง” กระดาษชาร์ท ปากกาเคมี  
12. ต่อยอดความคิด สู่ปฏิบัติการ “โครงงาน” กระดาษชาร์ท ปากกาเคมี  

ทีมงาน

  • คุณนครินทร์  อาสะไวย์
  • ดร.ณัชพัฒน์  สุขใส
  • คุณชฏิลลดา  เวชกุล
  • คุณประทีป  พรหมฤทธิ์

(เป็นรายชื่อวิทยากรหลัก ทั้งนี้ อาจมีทีมงานท่านอื่น ๆ สลับกันไปเพิ่มเติมในแต่ละสัปดาห์)

 

กิจกรรมที่น่าจะต่อยอดจากความคิด ไปสู่ปฏิบัติการโครงงาน(ตั้งเป็นหัวข้อตัวอย่าง)

1. สารคดี หรือหนังสั้น ในเรื่องที่เกิดจากการตั้งคำถามหรือเรียนรู้ร่วมกันจากการศึกษาบนชายหาด เช่น :

  • เปลือกหอยที่เกาะทะลุ ...บ้านหลังเล็กของปูเสฉวน เจาะลึกเรื่องราวของเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ที่พบบนเกาะทะลุ ที่เป็นบ้านของปูเสฉวน (หอยฝาเดียว) ศึกษาแนวโน้มของหอยบนเกาะ (ด้วยการเก็บข้อมูลเอง สัมภาษณ์ชาวประมง หรือพนักงานในรีสอร์ท) หากเปลือกหอยลดจำนวนลง ไม่เฉพาะปูเสฉวนจะไร้บ้าน แต่แคลเซี่ยมในทะเลจะลดลง ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของหอยและสัตว์ทะเลเปลือกแข็งอื่น ๆ ฯลฯ
  • การหายไปของป่าชายหาด เจาะลึกเรื่องของป่าชายหาดบนเกาะทะลุ ผนวกกับศึกษาแนวโน้มการหายไปของป่าชายหาดในพื้นที่อื่น โดยอาจลองตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า เมื่อป่าชายหาดถูกเปลี่ยนเป็นรีสอร์ท วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวถูกพิษแมงกะพรุน เราจะแก้ไขอย่างไรเพราะไม่มีผักบุ้งทะเล (ไม่มีป่าชายหาด) /ปลูกผักบุ้งทะเลและพืชชายหาดเป็นไม้ประดับในรีสอร์ท (ออกแบบสวน) สวยงามและมีประโยชน์ ฯลฯ
  • ขยะบนชายหาด เพราะตอนนี้ทะเลกลายเป็นถังขยะใบใหญ่ /ศึกษาแหล่งเส้นทางที่มาของขยะในทะเล คิดต่อเราจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร /สร้างงานศิลปะจากขยะบนชายหาด /หรือแนวทางการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกของผู้คนได้อย่างไร (เพราะขยะเกิดจากคน)
  • หาดปะการังบนเกาะทะลุ เป็นระบบนิเวศที่พบได้ไม่บ่อยนัก เจาะลึกถึงที่มาของหาดปะการัง ว่าพัดพามาจากแนวปะการังด้านใด ส่วนไหนของเกาะ /วิเคราะห์ชนิดของปะการังที่พบจากซาก /การย่อยสลาย และหลากหลายชีวิตที่อยู่ในหาดปะการัง
  • ความมั่นคงทางอาหาร เมื่อชายหาดถูกทำลาย อาจลองตั้งประเด็นถึงอาหารทะเลที่มีชื่อของบาง สะพาน และเชื่อมโยงกับระบบนิเวศชายหาด แล้วถ้าชายหาดถูกทำลาย อาหารทะเลเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบอย่างไร (เช่น เมื่อชายหาดถูกทำลาย แหล่งที่อยู่หรือแหล่งอาหารของสัตว์เศรษฐกิจจะหายไป /อาหารทะเลมีพิษสะสม) และคนจะได้รับผลกระทบอย่างไร (สัตว์ทะเลหายไป คนไม่ได้กิน ชาวประมงขาดรายได้ คนขายขาดรายได้ ตกงาน ฯลฯ น่าจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ได้)
  • ปลิงทะเลที่เกาะทะลุ...รูปไม่สวยแต่รวยคุณค่า (จำได้ว่าที่เกาะมีปลิงทะเลอยู่มาก) เจาะลึกเรื่องของปลิงทะเล ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อธรรมชาติ (เป็นตัวกรองน้ำ) ความนิยมนำมาทำเป็นอาหาร ที่เชื่อว่าเป็นของดี ของราคาแพง /สืบค้นงานวิจัยเรื่องคุณสมบัติของยางสีขาวในปลิงทะเล ฯลฯ  (อยากให้นำเสนอในรูปแบบหนังสั้น โดยใช้วิธีการถ่ายภาพแบบง่าย ๆ จากโทรศัพท์มือถือ สอนให้ เด็ก ๆ จับประเด็น เขียนบท จัดระบบการทำงาน และใช้โปรแกรมตัดต่อแบบง่าย ๆ)
 

2. รูปแบบการป้องกันหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ยกตัวอย่างกรณีการเกิดน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะ เสม็ด ถ้าในกรณีเกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นที่อ่าวบางสะพาน มีระยะเวลา 24 ชั่วโมง คราบน้ำมันจะลอยเข้าสู่ชายหาดเกาะทะลุ เด็ก ๆ จะหาวิธีการป้องกันแก้ไขอย่างไร (อาจมีการทดลองง่าย ๆ จากคราบน้ำมันเรือที่ท่าเรือเกาะทะลุ /ศึกษาผลกระทบจากสมมติฐานว่า หากมีคราบน้ำมันเกิดขึ้นจริง และเกิดผลกระทบต่อสัตว์ที่เราศึกษา จะเกิดอะไรกับห่วงโซ่ระบบนิเวศ หรือการตกค้างของคราบน้ำมันในพื้นทราย จะส่งผลต่อการวางไข่ของเต่าทะเล /ศึกษากรณีของอ่าวพร้าว แล้วอาจหานวัตกรรมใหม่จากแนวคิดของเด็ก ๆ ฯลฯ)

 

3. ชายหาดบำบัด

  • คนทั่วไปมาที่ชายหาด ด้วยเหตุผล อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกัน สำหรับอารมณ์ด้านลบ (โกรธ เสียใจ อกหัก) การมาเที่ยวทะเลก็ถือเป็นการบำบัดจิตใจอย่างหนึ่ง
  • มีการใช้ธรรมชาติ เช่น น้ำ สัตว์เลี้ยง หรือเสียงเพลงที่เป็นเสียงธรรมชาติ บำบัดอาการเจ็บป่วย สำหรับ ผู้ป่วยพิเศษ เด็กพิเศษ คนพิการ หรือคนชรา

จากเหตุผลข้างต้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ “นักสืบชายหาด” เพื่อบำบัดอาการของบุคคลเหล่านี้ โดยอาจให้เด็ก ๆ ลองออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละกรณี นำไปปรึกษากับแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ก่อนนำไปทดลองใช้ และประเมินผลร่วมกับแพทย์ นำไปใช้กับนักท่องเที่ยวในรีสอร์ท แล้วใช้เป็นสื่อในการสัมภาษณ์เพื่อประเมินว่า สามารถบำบัดให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลิน หรือคลายอารมณ์เครียดได้บ้างหรือไม่