Notice
  • JW_SIG_PRG
Tuesday, 04 February 2014 17:54

กิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง

กลุ่มกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง

พฤษภาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗

แนวคิด

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการนำมาใช้ประโยชน์และการสงวนรักษา ทรัพยากรธรรมชาติประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งในแต่ละเรื่องก็มีปัญหาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน การพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาช่วง 30 ปี ประสบกับปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่ การเพิ่มจำนวนประชากรการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว การเร่งรัดพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในการผลิต ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม จนกลายเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาในระยะต่อไป ดังปรากฏเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน นับวันจะร่อยหรอหมดสิ้นไปและอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ รวมทั้งยังมีปัญหาข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์อีกด้วย สำหรับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง คือ ความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการใช้กันอย่างเกินขอบเขตและการใช้อย่างไม่เหมาะสมจนสภาพทางธรรมชาติไม่สามารถรองรับหรือปรับตัวให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้

{gallery}campaign/1/1-3{/gallery}

ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาดนั้น จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันด้วย เพราะการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่ง อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งได้ และเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน หรือเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นจะต้องมีการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากการพัฒนาจะต้องพึ่งทรัพยากรและทรัพยากรก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงควรอยู่บนรากฐานของความถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงสภาพที่สมดุลหรือขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และโดยที่ปัจจุบัน ปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นปัญหาที่สำคัญและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมและส่งเสริมให้การกระทำใด ๆ มีผลกระทบในทางเสียหายน้อยที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญรวมทั้งการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ทั้งนี้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องคำนึงถึงความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนสถานภาพของทรัพยากรด้วย เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่ามากที่สุด ประหยัดที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด และใช้ได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นการนำขบวนการอนุรักษ์และพัฒนามาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากที่สุดและมีผลต่อเนื่องต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งทางมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ได้เสนอแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลดังนี้

 

1.กิจกรรมทำทุ่นบอกเขตและแนวเชือกดำน้ำ เชิงอนุรักษ์

การมาเที่ยวเกาะเพื่อดำน้ำดูปะการัง ในหลายๆพื้นที่ไม่ได้มีการจัดการการดำน้ำเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปะการังอย่างจริงจัง จึงมีทั้งการทิ้งสมอเรือและการยืนบนปะการัง ทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย จึงควรจัดวางทุ่นบอกเขตแนวปะการัง ไม่ให้เรือเข้ามาทิ้งสมอในแนวปะการังและการวางแนวเชือกดำน้ำ สำหรับการชมปะการัง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรปะการังอย่างยั่งยืนต่อไป

2 . กิจกรรมศึกษา กลุ่มและชนิดของปะการังบริเวณเกาะทะลุ

ปะการัง เสมือนอัญมณีแห่งท้องทะเล ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้ามาเยี่ยมชม และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หลบภัยและแหล่งสืบพันธ์ของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัย เรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ที่นำไปสู่การเผยแพร่ความสวยงามของทะเลสยามสู่สายตาประชาคมโลก ด้วยการถ่ายภาพปะการังชนิดต่างๆ การวิเคราะห์โครงสร้างปะการัง หาความหลากหลายของปะการังใต้ทะเล เพื่อเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมปะการังใต้ทะเลและอนุรักษ์ชนิดขแงปะการังที่เหลือน้อยต่อไป

3. กิจกรรมขยายพันธ์และฟื้นฟูปะการัง

การอนุรักษ์และการฟื้นฟูแนวปะการังเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ทรัพยากรแนวปะการังของประเทศสามารถดำรงสภาพความสมบูรณ์อยู่ได้ ตามธรรมชาติแล้ว ระบบนิเวศในแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่แนวปะการังมีพัฒนาการก่อกำเนิดขึ้นมาได้ นั้นก็เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง กล่าวคือมีการเจริญเติบโตของปะการังและขณะเดียวกันปะการังส่วนหนึ่งก็สลายไป แต่ก็เป็นลักษณะที่สมดุล ยังคงเกิดการสะสมหินปูนพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แนวปะการังอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นการเกิดปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ พายุพัดทำลาย การเกิดปลาดาวหนามระบาดซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่มาแน่ชัดของการระบาดในหลายท้องที่ และสาเหตุจากการรบกวนจากมนุษย์ ในปัจจุบันมีการพัฒนาชายฝั่งเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปต่างๆ รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ในแนวปะการังโดยตรงทั้งทางด้านการประมงและการท่องเที่ยว จนก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น แนวปะการังในแต่ละพื้นที่อาจมีความเสียหายแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของปัจจัยที่มากระทบ รวมทั้งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบชนิดของปะการังในพื้นที่นั้นๆว่ามีความบอบบางหรือทนทานต่อผลกระทบมากน้อยเพียงไรด้วย แนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ คือเสื่อมโทรมลง ในขณะที่บางแห่งมีการฟื้นตัวเกิดขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมีการจัดการแนวปะการังในพื้นที่นั้นได้ผล หรืออาจมีการฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ บางแห่งการฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ช้ามากเนื่องจากมีปัจจัยที่คอยยับยั้งการเจริญเติบโตของปะการัง แนวคิดของมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ได้มีการออกแบบการขยายพันธ์ปะการัง ใช้โดยใช้ท่อพีวีซี รวมถึงออกแบบการฟื้นฟูปะการัง ด้วยท่อพีวีซี คืนสู่ธรรมชาติ โดยให้เปิดให้เยาวชนและบุคคลที่สนใจเข้ามาร่วมคิดและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ปะการังที่ยั่งยืนต่อไป